ในตอนต้นปี 2566 นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า วงการอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาสดใสขึ้นหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว แต่ปรากฏว่าพอเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี กลับกลายมีจุดโฟกัสอยู่ที่คำตัดสินของศาลปกครองถึง 2 คดีคอนโดดัง ที่หากคำตัดสินออกมาน่าสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน
ซึ่งแต่ละโครงการที่กำลังเป็นคดีพิพากอยู่ในขณะนี้ ล้วนมีส่วนที่เหมือนกัน คือ เป็นโครงการสำหรับคอนโดที่พักอาศัยเมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วจะต้องส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์ให้กับลูกค้า ฉะนั้นไม่ว่าคำตัดสินของศาลปกครองจะออกมาในรูปแบบไหน ผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คงไม่พ้นผู้ซื้ออย่างแน่นอน
สำหรับ 2 คดีคอนโดดัง ที่เป็นประเด็นประกอบไปด้วย
- โครงการ 125 สาทร ศาลปกครองมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566
- โครงการแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ศาลปกครองมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566
125 สาทร คอนโดหรูโดนเพิกถอนใบอนุญาต EIA
โดยต้นเรื่องมาจากที่คณะนิติบุคคลอาคารชุดเดอะเม็ท ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เพื่อขอคัดค้านการอนุมัติรายงาน EIA โครงการ 125 สาทร กล่าวคือ ดั้งเดิม บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (PMTP) เป็นผู้พัฒนาโครงการเดอะ เม็ท และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินขนาด 10 ไร่ หลังจากปี 2547 ได้มีการแบ่งที่ดินออกเป็น 2 แปลง คือ ที่ดิน 7 ไร่สำหรับสร้างโครงการเดอะ เม็ท และที่ดิน 3 ไร่ ไว้สำหรับก่อสร้างโครงการ 125 สาทร ซึ่งที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้ได้มีการขออนุญาตก่อสร้างโครงการเดอะ เม็ท เรียบร้อยแล้วแล้ว
เท่ากับว่าที่ดินทั้ง 10 ไร่นี้ มีข้อกำหนดอยู่ภายใต้การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารสูง หรืออาคารที่มีขนาดใหญ่พิเศษ ฉะนั้นเดอะ เม็ทจึงได้ยื่นฟ้องอ้างว่าแบบอาคารของ 125 สาทร มีขนาดใหญ่กว่าขนาดอาคาที่กฎหมายกำหนด หลังจากหักพื้นที่ดินของเดอะ เม็ท ออกแล้วก็ตาม สำหรับคดีนี้ศาลปกครองได้มีคำสั่งพิพากษาให้หยุดก่อสร้าง พร้อมเพิกถอนรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ย่อมแสดงให้เห็นว่าศาลให้ความสำคัญต่อการดำเนินคดีของชุมชนแวดล้อม
“แอชตัน อโศก” คดีอสังหาฯที่ได้รับความสนใจมากที่สุด
นาทีนี้ข่าวคราวคดีโครงการ “แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21” เป็นที่จับตามองถึงหนทางออกว่าจะดำเนินไปในรูปแบบใด เพราะความก้าวหน้าทางคดีชัดเจนแล้วว่าศาลปกครองมีคำสั่งตัดสินให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างและให้มีผลย้อนหลัง ซึ่งเท่ากับว่าใบอนุญาตเมื่อปี 2558 ก็จะถูกเพิกถอนออกไปด้วย
ทั้งนี้ แอชตัน อโศกได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2558 ในระหว่างก่อสร้างก็มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอยู่ 2 คดีด้วยกัน คือปี 2559 ถูกฟ้องโดยสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และคดีที่ 2 ปี 2560 โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งในคดีนี้ยังไม่มีคำตัดสิน
และในปี 2561 โครงการได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ เริ่มมีการทยอยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้กับลูกค้าบ้างแล้ว โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่โอนและเข้าพักอาศัยประมาณ 580 ครัวเรือน จากจำนวน 668 ห้องชุด คิดเป็นสัดส่วน 87% ของจำนวนห้องชุดทั้งหมดของโครงการ รวมมูลค่าโครงการ 6,400 ล้านบวกลบ มูลค่าโอน 5,400 ล้านบวกลบ เหลือห้องชุดที่ยังอยู่กับบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด 51% และกลุ่มมิตซุย ฟุโดซัง ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่นอีก 49%
จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าความเสียหายต่างๆ ไม่ได้เป็นแค่คดีพิพากษาระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานรัฐเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับความฝันของผู้ซื้อที่วาดฝันอยากพักอาศัยคอนโดมิเนียมสุดหรู ใจกลางเมือง และเชื่อได้ว่าในอนาคตจะต้องมีคดีด้านการฟ้องร้องในลักษณะนี้อีกหลายคดี ดังนั้นผู้บริโภคเองต้องศึกษาข้อมูลเชิงลึกให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจซื้อคอนโดเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ถ้าไม่อยากมานั่งปวดหัวในภายหลัง
แหล่งที่มา https://www.prachachat.net/property/news-1414912
เรื่องอื่นที่น่าสนใจ : ความคืบหน้า โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ บ้านคนจน ต้องพัฒนาคุณภาพ